จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Sunday, September 30, 2012

บทเซิ้งบั้งไฟของชาวอีสาน


บั้งไฟ เป็นกระบอกไม้ไผ่ หรือกระบอกเหล็กที่บรรจุดินปืนตำให้แน่นจนเต็มกระบอกแล้วมัดไม้ไผ่เป็นท่อนๆโดยรอบ มีท่อนไม้ยาวทำเป็นหาง ประดับด้วยกระดาษสีที่ประดิษฐ์เป็นลวดลายต่างๆ กัน
          บั้งไฟนับเป็นการละเล่นที่มีมานานแล้ว เท่าที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดแจ้งก็คือ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศจัดให้มีพิธีสมโภชพระพุทธบาท พระมหานาค วัดท่าทราย ได้บันทึกการละเล่นในครั้งนั้นไว้ในบุณโณวาทคำฉันท์ตอนหนึ่งว่า
                   ตรวจตรวยพวยพุ่งคัคณานต์                  นกบินบินปาน
                   สกุณร่อนรักรัง
ความเชื่อเรื่องการเกิดบั้งไฟนั้นมีหลายกระแส แต่อาจสรุปได้เป็น ๓ กระแสใหญ่ด้วยกันคือ
๑.      เกิดขึ้นมาเพราะอิทธิพลของศาสนา แยกได้ ๒ ชนิด ดังนี้
ก.       ศาสนาพุทธ
บั้งไฟจะจัดทำกันในระหว่างเดือน ๖ ถึงกลางเดือน ๘ ซึ่งในช่วงนั้นจะมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่วันหนึ่ง คือวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจึงได้จัดให้มีพิธีทางศาสนา เช่น บวชนาค สรงน้ำพระ รวมทั้งมีการละเล่นรื่นเริงเกี่ยวกับการแห่และการจุดบั้งไฟด้วย บั้งไฟจึงเป็นส่วนที่ช่วยให้พิธีกรรมเกี่ยวกับวันวิสาขบูชามีความครึกครื้นขึ้น
นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า การจุดบั้งไฟนั้นมีจุดประสงค์เพื่อ สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ข.       ศาสนาพราหมณ์
ในศาสนาพราหมณ์มีเทพเจ้าองหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก คือพระอัคนี ถือกันว่าเป็นผู้ที่นำเครื่องสังเวยจากมนุษย์ไปสู่เทพเจ้าด้วยกัน การบูชากระทำได้ทางหนึ่งโดยการจุดไฟ ลัทธิการบูชาเทพเจ้าแบบนี้ เมื่อตกทอดมาถึงชาวพื้นถิ่นอีสาน จึงได้มีการจุดบั้งไฟขึ้นเพื่อบูชาพญาแถน ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของชาวอีสาน
๒.      เกิดขึ้นมาเพื่อขอฝน
ชาวบ้านพื้นถิ่นอีสานเชื่อกันว่า พญาแถน เป็นเทพเจ้าที่สามารถบันดาลให้ฝนตกได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความแห้งแล้งขึ้นบนพื้นโลก จึงมีการจุดบั้งไฟไปเตือนพญาแถนให้กระทำหน้าที่ของตน คือ การให้ฝนแก่มวลมนุษย์ บั้งไปจึงมีลักษณะเหมือนผู้สื่อข่าวระหว่างแผ่นดินโลกกับฟ้าหรือพญาแถน
๓.      เกิดขึ้นมาเพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้มาร่วมชุมนุมกัน
ในกรณีนี้ จะชี้ให้เห็นถึงพิธีกรรมการประกอบบั้งไฟ การแห่แหนและการจุดบั้งไฟ ว่าเป็นไปด้วยความสนุกสนานของประชาชน ก่อนที่จะต้องทำงานหนัก คือทำนาในเวลาถัดไป ในช่วงของการแห่บั้งไฟนั้น เป็นช่วงที่สนุกสนานมาก หนุ่มสาวทั้งในและนอกหมู่บ้านได้มีโอกาสมาพบปะกัน ผู้เฒ่าผู้แก่จะส่งเสริมให้บุตรสาวของตนเข้าร่วมพิธีนี้ เพราะยังมีความเชื่อถือคำกล่าวที่ว่า ถ้าผู้เฒ่าผู้แก่บ้านใดไม่มีบุตรสาวของตนไปร่วมในพิธีแห่บั้งไฟ ผู้เฒ่าผู้แก่นั้นจะตกนรกและเป็นผู้ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แฝงอยู่ในพิธีนี้ก็คือ การทำให้ชาวบ้านมีความสนิทสนมกลมเกลียวมีความสมัครสมานสามัคคีกันยิ่งๆขึ้นไป
          เมื่อพิจารณาถึง ลักษณะเนื้อหาของร้อยกรอง ที่เป็นบทเซิ้งบั้งไฟอย่างละเอียดแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑.      บทเซิ้งที่ใช้ถ้อยคำสุภาพ ธรรมดา แยกย่อยได้เป็น ๒ ชนิด ดังนี้
๑.๑ บทเซิ้งที่เป็นเรื่อง ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ ๒ ลักษณะ คือ
๑.๑.๑ เรื่องราวจากนิทานหรือวรรณกรรม
              จะนำเอานิทานหรือวรรณกรรมเรื่องที่แพร่หลายไปกล่าวเป็นบทเซิ้ง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสั้นหรือยาวอย่างไร เช่น เรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ หรือเรื่องท้าวผาแดง – นางไอ่ เป็นต้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า บทเซิ้งที่นำเนื้อเรื่องมาจากนิทาน หรือวรรณกรรมนั้น มักจะแยกออกได้เป็น ๑ ส่วนคือ
ก.       ส่วนนำเรื่องหรือส่วนไหว้ครู
มักจะไหว้อย่างสั้นๆเพียงวรรคเดียว เช่น
     โอมพุทโธนโมเป็นเค้า
ข.       ส่วนเนื้อเรื่อง
จะเป็นบทเซิ้งที่กล่าวถึง เนื้อเรื่องไปตามลำดับจนกระทั่งจบเรื่อง ดังตัวอย่างจากบทเซิ้งเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ตอนหนึ่งว่า
มีชาวนายากจนคนหนึ่ง
อาศัยพึ่งแห่งลูกชายตน
บ่ทันโดนบิดาตายจาก
ได้ลำบากทำอยู่ทำกิน
ฝนตกรินฮำกายกะแข่ง
มื้อหนึ่งแต่งให้ลูกไปนา
ถึงเวลาฤดูไถหว่าน
เดือนหกผ่านเข้าสู่ยามดำ
ลูกชายนำจูงควายไปก่อน
ค.       ส่วนลงท้าย
เป็นส่วนปิดเรื่อง บอกให้ผู้ฟังทราบว่าเรื่องจะจบลงแล้ว ดังตัวอย่างเช่น
     ยุติกาลงไว้สาก่อน
มันเป็นบ่อนจบแล้วพอดี
เอาละตี๊ขอเซาก่อนแล้ว
๑.๑.๒ เรื่องราวจากหลักธรรม หรือคำสั่งสอน
          จะนำเอาหลักธรรม หรือคำสอนที่ควรยึดถือควรปฏิบัติมากล่าวเป็นบทเซิ้ง ทั้งนี้เพื่อสอนใจผู้ฟัง หรือผู้เข้าร่วมพิธีเซิ้งบั้งไฟไปในตัว หลักธรรมคำสอนนั้น แบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ
ก.       หลักธรรมคำสอนที่ได้มาจากวรรณกรรมคำสอนโดยตรง เช่น กาบพระมุนี เนื้อหาจะกล่าวสอนให้คนมีสัทธาในพุทธศาสนาเป็นหลัก ดังตัวอย่าง เช่น
พระมุนีอยู่หัวเป็นเจ้า
เว้าไปหน้ายังกว้างกว่าหลัง
อนิจจังลูกหลานเต็มบ้าน
เจ้าอย่าคร้านปะฮีตคลองธรรม
ให้บำเพ็ญภาวนาอย่าขาด
ให้ตักบาตรอย่าขาดวันศีล
ข.       หลักธรรมคำสอนที่ได้มาจากแบบอย่าง หรือธรรมเนียมประเพณีที่ชาวพื้นถิ่นอีสานยึดถือปฏิบัติกันมานั่นก็คือ ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ดังตัวอย่างเช่น
โลกเฮามีบุคคลเป็นใหญ่
เอาใจใส่ตามฮีตตามคลอง
ฮีตสิบสองตามคลองสิบสี่
ฮีตอ้ายยี่ให้สงฆ์เข้ากรรม
ฮีตสองทำเอาฟืนมาไว้
ฮีตสามให้ทายกตักเตือน
ให้เจ้าเพียรเอาบุญข้าวจี่
๑.๒ บทเซิ้งที่กล่าวถึงการขอ
          บทเซิ้งชนิดนี้จะประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ
          ๑.๒.๑ ส่วนของการขอ
                   เนื้อหาเนื้อหาจะเกี่ยวกับการขอบริจาคปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ อาหาร หรือแม้กระทั่งเหล้า เพื่อนำไปเลี้ยงดูกันในขบวนแห่ หรืออาจจะขอเพื่อนำไปเป็นปัจจัยถวายพระก็ได้ ตัวอย่างเช่น
                   ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ
                   ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ้วย
                   หวานจ้วยจ้วยใส่ปากหลานชาย
ตักมายายหลายชายให้คู่
ยายบ่อยู่ตูก็บ่หนี
                   ๑.๒.๒ ส่วนของการให้พร
                             หลังจากที่พวกเซิ้งบั้งไฟได้สิ่งของที่ตนขอจากชาวบ้านแล้ว ขบวนเซิ้งก็จะเซิ้งให้พรแก่ผู้บริจาคปัจจัยนั้น เนื้อหาของบทเซิ้งให้พร มักจะขอให้ผู้บริจาคมีอายุยืนยาว ประกอบอาชีพใดก็ให้วัฒนาถาวร และประสบความสุขความเจริญอยู่ตลอดไป เช่น
                             ให้เจ้าค่อยอยู่สุขสบาย
อายุหลายได้พันได้หมื่น
อันอื่นอื่นเป็นเงินเป็นทอง
เป็นสิ่งของวัวความช้างม้า
อย่าเป็นห่าตายถิ่มตายกอง
แม่นสิ่งของอันใดกะซ่าง
ให้เจ้าห่างจากโรคโรคา
พวงกายาหรือกายของเจ้า
ให้เจ้าเล่าได้มีความสุข
ให้สนุกนั่งกินนั่งอยู่
ให้มีคู่นอนซ้อนสาเด้อ
๒.      บทเซิ้งที่มีเนื้อหาตลก
ผู้เซิ้งจะกล่าวบทเซิ้งให้ตลกชวนขบขัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ร่วมขบวนเซิ้ง รวมทั้งผู้ฟังได้มีโอกาสยิ้มหัวสนุกสนาน จะได้ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปในตัว ดังเช่น บทเซิ้งตอนหนึ่งที่ว่า
     แม่เถ้าเอ้ยลูกเขยมาแล้ว
แม่เถ้าแก้วไปลี้อยู่ใส
อยู่คีไฟตาเหลื่อมเม้าเม้า
ข่อยมาเว้าแม่เถ้าอย่าหนี
ไทยเฮือนนี้ไปใสมิดมี่
หือไปลี้อยู่ส้วมหยอกกัน
๓.      บทเซิ้งที่มีเนื้อหาหยาบโลน
บทเซิ้งชนิดนี้จะกล่าวถึงเรื่องลามกหยาบโลนทางด้านอวัยวะเพศหรือด้านเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ผู้เซิ้งนำเป็นผู้ชาย และมักจะดื่มสุราย้อมใจจนมีความกล้าพอสมควรที่จะกล่าวถึงเรื่องหยาบโลนไม่นึกอาย ดังนั้น บทเซิ้งบั้งไฟจึงมีเนื้อหาที่หยาบโลนปรากฏอยู่มิใช่น้อย เช่น
     สาวบ้านอื่นมีผัวบ้านโต
สาว -โปฝากซี้บ้านเพิ่น
สาวหัวเดิ่นบ้านเหล่าบ้านขาม
สาวนมงามอยู่บ้านห้วยแอ่ง
สาวปากแหว่งอยู่บ้านหนองตอ
สาวหมอ- งออย่ามาทางพี้
บทเซิ้งนางแมว
          การแห่นางแมว เป็นพิธีกรรมที่ชาวพื้นถิ่นจะจัดทำขึ้นเมื่อเกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือกสิกรรมได้ สาเหตุที่ต้องเอาแมวไฟแห่ให้ชาวบ้านในละแวกเดียวกันเอาน้ำมารดนั้น เป็นเพราะว่า แมวเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบอาบน้ำและชาวอีสานเชื่อกันว่า ถ้าแมวร้องคราวใดฝนจะตกคราวนั้น ครั้งเกิดความแห้งแล้ง จึงได้จับแมวมาขังแล้วสาดน้ำรดแมวให้แมวร้องมากที่สุดเพื่อว่าฝนจะได้ตกลงมาไม่แห้งแล้งอีกต่อไป
          ในขณะที่แห่นางแมวไปตามบ้านต่างๆนั้น จะมีการกล่าวบทเซิ้งประกอบเนื้อหาของเซิ้งนางแมวส่วนใหญ่จะกล่าวถึง การวิงวอนให้ฝนตกลงมา เพื่อลดความแห้งแล้งบนพื้นโลกและชี้ให้เห็นว่า ถ้าฝนไม่ตกพืชพันธุ์ต่างๆจะล้มตาย ทำความยากลำบากให้กับมวลมนุษย์เป็นอย่างมาก ดังตัวอย่างเช่น
                   เซิ้งอีแม่นางแมว
                   ฮ้องแมวแมวขอเป็ดขอไก่
                   ขอบ่ได้ฮ้องให้ขอฝน
ขอน้ำมนต์หดหัวนางแมว
          บทเซิ้งนางแมว เป็นบทเซิ้งที่เกิดมาจากสภาวธรรมติบีบบังคับ ผสมกับความเชื่อดั้งเดิม และอดมิได้ที่จะสอดแทรกสภาพสังคมขณะเกิดความแห้งแล้งนั้นเข้าไปด้วย ทำให้เนื้อหาของบทแห่นางแมวมีคุณค่าน่าใคร่ครวญยิ่งขึ้น
บทเซิ้งพระเวสสันดร
          ถือเป็นบทเซิ้งที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา กล่าวคือ ในราวสี่เดือน ทางภาคอีสานจะมีพิธีทำบุญพระเวส ในพิธีนี้ ชาวบ้านจะมีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง โดยสมมติว่า ชายป่าด้านหนึ่งเป็นเขาวงกต พระเวสสันดรประทับอยู่ที่นั่น ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่เชิญพระเวสสันดรเข้ามาสู่เมือง คือวัดที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธี ในเวลาแห่จะมีเครื่องดนตรีประกอบเพื่อความสนุกสนาน เครื่องดนตรีเหล่านั้นได้แก่ กลองยาว ฉาบ ฉิ่ง หรือ โทน เป็นต้น
          สำหรับสิ่งสำคัญมากสิ่งหนึ่งของขบวนแห่คือ ภาพวาดเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ซึ่งวาดลงบนผ้าขาวยาวหลายสิบเมตร และชาวบ้านจะถือเข้าร่วมพิธีด้วย
          เพื่อให้พิธีการนี้มีความสมบูรณ์ ขณะแห่จึงต้องมีบทเซิ้งร้องประกอบ เนื้อหาของบทเซิ้ง ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องของพระเวสสันดรอย่างรวบรัด จะเน้นเฉพาะความที่กล่าวเชิญพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา และชาลี กลับเข้าเมืองสีพีเป็นพิเศษ ดังตัวอย่างเช่น
                             เชิญเถิดเวสสันดร
ทั้งบังอรแม่มัทรี
คืนเมืองเมืองพีสี
กลับบุรีเป็นราชา
ปกครองเหล่าอาณา
เชิญเถิดหนาพระลูกเอย
เชิญเถิดพระลูกเอ๋ย
เมือเสวยโภชนา
มากินผลผลา
ครองวนาไม่สมควร
          บทเซิ้งพระเวสสันดรสำนวนนี้ มีลักษณะการแต่งสร้างคล้ายกาพย์ยานี ๑๑ มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านจำนวนคำหรือสัมผัส รวมทั้งศัพท์ก็ค่อนข้างสูง สำนวนโวหารสละสลวยกว่าปกติ จึงชวนคิดว่าบทเซิ้งนี้พยายามแต่ให้เป็นกาพย์ยานีมากที่สุด เพื่อให้ตรงกับลักษณะของ “กาบเซิ้ง”

No comments:

Post a Comment